รู้ทันมิจฉาชีพออนไลน์ด้วย
ระบบฐานข้อมูล Blacklist Seller

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-commerce เติบโตอย่างก้าวกระโดดท่ามกลางกระแส Social Distancing ในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตามตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และคาดว่าจะเติบโตต่อไปในอัตราร้อยละ 7.7 ต่อปีจนถึงปี พ.ศ. 2566 [1] อ้างอิงจากบทความของ eCommerceDB [2] ระบุว่าประเทศไทยเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดลำดับที่ 22 โดยมีรายได้ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งการเพิ่มขึ้น 28% ของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีส่วนทำให้อัตราการเติบโตทั่วโลกอยู่ที่ 29% ในปี พ.ศ. 2564

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อสินค้าออนไลน์มีความสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงมีสินค้าหลากหลายราคาให้เลือก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันทำให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตามการชำระเงินล่วงหน้าก่อนได้รับสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ขายที่ไม่รู้จัก ไม่เห็นหน้า ถือเป็นปัจจัยที่ผู้ซื้อต้องแบกรับความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ซื้อของออนไลน์จำนวนไม่น้อยถูกโกงจากผู้ขายในรูปแบบที่แตกต่างกัน Better Business Bureau (BBB) [3] ได้รายงานสถิติจากเรื่องร้องเรียน (2021 Online Purchase Scams Report) พบว่าร้อยละ 74 ของผู้ซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนแต่ไม่ได้รับสินค้า ร้อยละ 13 ได้รับของปลอมหรือคุณภาพต่ำ และร้อยละ 13 ได้รับสินค้าที่แตกต่างจากที่ร้านค้าได้โปรโมทและไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อถูกหลอกลวงด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรมีการดําเนินงานเชิงรุก เพื่อป้องกันก่อนเกิดปัญหาให้มากขึ้น

ระบบฐานข้อมูล Blacklist Seller คืออะไร ?

Blacklist Seller คือระบบฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สําหรับสร้างความเชื่อมั่นในการทําธุรกรรมออนไลน์ ระบบจะรวบรวมข้อมูลผู้ขายที่กระทำความผิด เช่น ไม่ส่งสินค้า ส่งสินค้าไม่ตรงกับที่สั่ง หรือนำข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคไปใช้ในทางที่เสียหาย เป็นต้น โดยรวบรวมจากผู้บริโภคที่เคยมีประสบการณ์ในการซื้อสินค้าจากผู้ขายที่กระทำความผิด ในขณะที่ผู้ใช้บริการระบบผู้อื่นสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย ก่อนพิจารณาตัดสินใจทำการซื้อขายได้

ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล Blacklist Seller เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับสาวกชอปปิงออนไลน์ในการตรวจสอบผู้ขายที่กระทำผิด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่อย่างใด เช่น

  • Blacklistseller.com (https://www.blacklistseller.com/) จัดทำโดยภาคประชาชน เป็นระบบที่ผู้ซื้อที่ถูกโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ สามารถเข้ารายงานข้อเท็จจริงและหลักฐานประกอบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการผู้อื่น สามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูล ก่อนพิจารณาตัดสินใจทำการซื้อขายกับผู้ขายที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย

  • ฉลาดโอน (https://www.chaladohn.com/) จัดทำโดยหน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบข้อมูลของผู้ขายด้วยชื่อบัญชีธนาคาร เลขที่บัญชีธนาคาร หรือเบอร์โทร เพื่อป้องกันก่อนโอนเงิน

การจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีการพัฒนาระบบด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อสร้างการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในระยะยาว ระบบฐานข้อมูล Blacklist Seller ถือเป็นระบบที่ตอบโจทย์และมีประโยชน์สำหรับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ซื้อสามารถประเมินความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจชำระค่าสินค้า และสามารถส่งเรื่องร้องเรียนเพื่อเป็นหลักฐาน และเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ใช้ระบบอื่น ๆ สามารถมาตรวจสอบได้ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างความตระหนักรู้ก่อนการตัดสินใจซื้อ ป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์


ที่มา :

[1] “Thailand eCommerce market growth,” International Trade Administration | Trade.gov. https://www.trade.gov/market-intelligence/thailand-ecommerce-market-growth (accessed Feb. 28, 2022).

[2] “The eCommerce market in Thailand” https://ecommercedb.com/en/markets/th/all

[3] “2021 BBB Online Purchase Scams Report How to Stay Safe Online” https://www.bbb.org/content/dam/bbb-institute-(bbbi)/2021-online-purchase-scams/Final%202021-BBB-OnlinePurchaseScamsReport.pdf (accessed Feb. 28, 2022).


โดย : สิริภัทร อิ่มสอาด