สิทธิบัตรและการทำ R&D

เรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้

หากพูดถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศต่าง ๆ แน่นอนว่าหลายคนคงสามารถยกตัวอย่างสิ่งเหล่านั้นได้ เช่น Toyota, Mitsubishi, Line Application จากประเทศญี่ปุ่น Samsung จากประเทศเกาหลีใต้ Microsoft, Apple จากประเทศสหรัฐอเมริกา หรือถ้าหากจำกัดวงแคบลงมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee และผู้ให้บริการเกมยักษ์ใหญ่ Garena ที่แท้จริงแล้วก็มาจากประเทศสิงคโปร์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงประเทศไทย เรากลับไม่มีแบรนด์สินค้าสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเหมือนตัวอย่างข้างต้น หนำซ้ำ อุตสาหกรรมของประเทศไทยยังมุ่งเน้นไปที่การเป็นฐานการผลิตสินค้าให้กับต่างประเทศ การที่ประเทศไทยขาดแคลนนวัตกรรม ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดต่ำลงด้วยเช่นกัน และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง



*กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) หมายถึง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว พัฒนาจากรายได้น้อยมาสู่ระดับที่มีรายได้ปานกลาง แต่ไม่สามารถยกระดับไปยังกลุ่มประเทศรายได้สูงได้



หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่า ในเมื่อประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทำไมถึงไม่มีรถยนต์สัญชาติไทย ? จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพียงแค่รถยนต์ แต่รวมถึงสินค้าสำคัญอื่น ๆ ด้วย เหตุผลของเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะคนไทยไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพราะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ และขาดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ

ผลสำรวจสำมะโนอุตสาหกรรมของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม ระบุว่า สถานประกอบการที่มีผลิตภาพสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก (กลุ่ม Frontier) มีระดับผลิตภาพสูงกว่าสถานประกอบการกลุ่มอื่น (กลุ่ม Non-frontier) ถึง 20 เท่า เนื่องจากมีการทำ R&D อย่างต่อเนื่องและมีสัดส่วนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติมากอีกกลุ่ม 7 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากต่างประเทศ [1]

นอกจากนี้ จำนวนการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรยังแสดงถึงความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยช่วงปี 2015-2018 พบว่าไทยมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรเฉลี่ยเพียง 35 ใบต่อประชากรล้านคน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเดียวกัน เช่น มาเลเซีย ที่มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรมากถึง 126 ต่อประชากรล้านคน [2] ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราทราบว่า การวิจัยและพัฒนานั้นไม่ได้มีผลแค่ในระดับองค์กรเท่านั้น แต่ส่งผลถึงเศรษฐกิจระดับประเทศด้วย


แล้วสิทธิบัตรคืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำ R&D?

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้ความหมายของสิทธิบัตร (Patent) ไว้ว่า “หนังสือที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษที่ให้ผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบมีสิทธิที่จะผลิตและจำหน่ายสินค้าได้แต่เพียงผู้เดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” [3]

นั่นหมายความว่า เมื่อผู้ใดกระทำการจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้วนั้น ผู้อื่นจะไม่สามารถผลิตซ้ำหรือนำไปจำหน่ายเองได้ เว้นเสียแต่ว่าจะต่อยอดด้วยการผลิตหรือออกแบบสิ่งนั้นให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น แตกต่างจากเดิม

สิทธิบัตรมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ของเจ้าของงาน แต่ไม่ได้มีประโยชน์เพียงเท่านั้น เพราะนักธุรกิจ นักวิจัย และผู้สนใจสามารถสำรวจข้อมูลการจดสิทธิบัตรเพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มองหาพื้นที่ว่างในการต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ ให้กับธุรกิจของตนเอง หรือแม้กระทั่งประเมินศักยภาพของคู่แข่งและคู่ค้า และใช้วางแผนกลยุทธ์ให้กับองค์กรต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาวิจัยยังทำให้พบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งผลการศึกษาที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงหรือพัฒนาบางสิ่งบางอย่าง รวมถึงเป็นหลักการที่สามารถนำมาวางแผนและแก้ไขปัญหาได้ นำไปสู่เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต

ดังนั้น การทำ R&D จึงเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้องค์กรคิดค้นผลิตภัณฑ์ คุณสมบัติ กระบวนการทำงาน นวัตกรรม รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานขององค์กร เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน อยู่เหนือคู่แข่งด้วยความโดดเด่นและแตกต่าง ตลอดจนสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง


เทคโนโลยีในอนาคตกำลังอยู่ในทิศทางใด

ผลสำรวจการจดสิทธิบัตรในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2022 ของ GlobalData’s Patent Analytics [4] เผยว่า บริษัทที่ยื่นจดสิทธิบัตรมากที่สุด 10 อันดับแรก มีจำนวน 8 บริษัทที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย โดยบริษัทที่ยื่นจดสิทธิบัตรมากเป็นอันดับหนึ่งในไตรมาสนี้ คือ Samsung ซึ่งจดสิทธิบัตรทั้งหมด 9,203 ใบ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ในปี 2021 ถึง 41% และมุ่งเน้นไปที่ เซมิคอนดักเตอร์ (สารกึ่งตัวนำที่ใช้ในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ) การสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless Communication) การประมวลผลข้อมูลดิจิทัล (Digital Data Processing) และวิดีโอออนดีมานด์ (Video on Demand: VOD)

ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2022 ซึ่งหากนับตั้งแต่ช่วงปี 2018 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่าส่วนใหญ่สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ AI จะเป็นระบบการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) การรู้จำเสียงพูด (Speech Recognition) การวิเคราะห์ภาพ (Image Analysis) และระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP)

นอกจากนี้ การจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค มีอัตราการขยายตัวต่อปีเฉลี่ย 14% ในระหว่างไตรมาสที่ 1 ปี 2018 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2022 นี้ โดยสิทธิบัตรหลัก ๆ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานหมุนเวียน ระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (Industrial Automation) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า


ตัวอย่างเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ

  • Google Patents ฐานข้อมูลสิทธิบัตรสำหรับสืบค้นสิทธิบัตรจากทั่วทุกมุมโลก สามารถใช้บริการได้ฟรี

  • Google Scholar ฐานข้อมูลวรรณกรรมวิชาการสำหรับสืบค้นแหล่งข้อมูลงานวิจัยเพื่ออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร เอกสารการประชุม หนังสือวิชาการ วิทยานิพนธ์ รายงานทางเทคนิค และวรรณกรรมทางวิชาการอื่น ๆ สามารถใช้บริการได้ฟรี

  • Patsnap แพลตฟอร์ม R&D จากประเทศสิงคโปร์ที่ใช้ AI ในการประมวลข้อมูล พร้อมให้องค์กรของคุณมองเห็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดยระบบสามารถแสดงกลยุทธ์ขององค์กรคู่แข่งและพันธมิตรของคู่แข่ง ด้วยการวิเคราะห์เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตรและงานวิจัย, สำรวจตลาดใหม่ ๆ และคาดการณ์เทรนด์ในอนาคต จากข่าวสาร บทความ รายงานทางการตลาดที่เกี่ยวข้อง, แนะนำผลงาน ผู้เชี่ยวชาญ หรือความสำเร็จทางด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์ขององค์กรอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจให้กับองค์กร

  • ReportLinker แพลตฟอร์มสัญชาติฝรั่งเศสที่ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูล โดยมุ่งเน้นนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของตลาด คาดการณ์แนวโน้มตลาดในอนาคต ตรวจสอบสภาพการแข่งขันจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ พร้อมทั้งช่วยให้ทราบถึงเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้องค์กรของคุณสามารถนำไปวางแผนธุรกิจได้เหนือกว่าใคร ๆ


ดังนั้น ฟีเจอร์สำคัญที่ต้องมีสำหรับแพลตฟอร์มประเภทดังกล่าว คือ การวิเคราะห์เทคโนโลยี สิทธิบัตรและงานวิจัย เพื่อให้องค์กรมองเห็นแนวโน้มเทคโนโลยี สภาพตลาดและการแข่งขันในอนาคต และนำไปวางแผนกลยุทธ์อย่างได้เปรียบ หากผู้ประกอบการไม่เห็นความสำคัญของกระบวนนี้ อาจส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจลดน้อยลง เนื่องจากปรับตัวไม่เท่าทันคู่แข่งหรือตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ไม่ดีพอ

ทั้งหมดนี้ ทำให้เราทราบว่าการวิจัยและพัฒนาขององค์กรนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด ผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ จึงไม่ควรมองข้ามกระบวนการนี้ เพื่อยกระดับการดำเนินงานทางธุรกิจ ส่งเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ



อ้างอิง

[1] ธนาคารแห่งประเทศไทย, “ทำอย่างไรให้ไทยเก่ง: พลิกตำราสู่นโยบายเพื่อเพิ่มผลิตภาพ.” https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_22Dec2020.pdf (accessed Nov. 24, 2022).

[2] Marketing Oops!, “เศรษฐกิจไทย กลับไม่ได้..ไปไม่ถึง และกำลังถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม,” Marketing Oops!, Nov. 13, 2020. https://www.marketingoops.com/news/biz-news/kkp-research-thai-economy-tech/ (accessed Nov. 23, 2022).

[3] กรมทรัพย์สินทางปัญญา, “สิทธิบัตร.” https://www.ipthailand.go.th/th/patent-001.html (accessed Nov. 24, 2022).

[4] G. Barklie, “Patent statistics and analysis: Q1 2022,” Investment Monitor, Jul. 19, 2022. http://www.investmentmonitor.ai/dashboards/patents/patent-statistics-and-analysis-q1-2022 (accessed Nov. 25, 2022).


โดย : ภูษณิศา บุญเอนก