Software Engineer

เบื้องหลังคนสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์

หากการสร้างบ้านต้องมีวิศวกรมาควบคุมการก่อสร้างให้ตรงตามมาตรฐานที่ได้ออกแบบไว้ การพัฒนาซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมก็ต้องมีบุคคลที่ทำหน้าทีควบคุมการออกแบบหรือการเขียนโปรแกรมให้เป็นไปตามที่ได้ออกแบบไว้เช่นกัน ซึ่งบุคคลที่ทำหน้าที่ดังกล่าวเรียกว่า Software Engineer หรือ วิศวกรซอฟต์แวร์

Software Engineer หรือ วิศวกรซอฟต์แวร์ คือบุคคลที่ทำหน้าที่ออกแบบและเขียนโปรแกรม (Coding) เพื่อพัฒนา และปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็เปรียบเสมือนการสร้างบ้าน ก่อนจะสร้างบ้านได้วิศวกรต้องทราบความต้องการของลูกค้า ดังนั้นกระบวนการทำงานของวิศวกรซอฟต์แวร์จึงเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า หรือ Requirement เช่น ลูกค้าต้องการระบบหรือเว็บไซต์สำหรับทำอะไร เมื่อทราบความต้องการของลูกค้า ขั้นตอนต่อมาคือการออกแบบระบบที่ตอบโจทย์ความต้องการและสามารถตอบสนองการใช้งานได้ จากนั้นวิศวกรจะทำการพัฒนาระบบดังกล่าว โดยในขั้นตอนนี้จะเรียกว่าการเขียนโปรแกรม หรือ Coding หลักจากเสร็จสิ้นการ Coding สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อคือการทดสอบการใช้งานระบบเพื่อให้แน่ใจว่าระบบสามารถทำงานได้จริง ในขั้นตอนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของตำแหน่งนี้ เพราะจะเป็นการตรวจสอบว่าระบบที่พัฒนานั้นเป็นไปตาม Requirement หรือไม่ หากทดสอบแล้วเกิดปัญหา ระบบไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ออกแบบ วิศวกรซอฟต์แวร์จะต้องทำการปรับแก้ไขต่อไป และเมื่อผ่านการทดสอบแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการบำรุงรักษาระบบนั้น ๆ ที่อาจจะเกิดปัญหาตามมาหลังจากผู้ใช้งานได้ใช้งาน

จะเห็นได้ว่าการเขียนโปรแกรม ถือเป็นหน้าที่พื้นฐานของวิศวกรซอฟต์แวร์ ดังนั้น ทักษะพื้นฐานสำคัญอันดับต้น ๆ ที่อาชีพนี้ต้องรู้ คือ ภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ก็จะขึ้นอยู่กับส่วนที่ดำเนินงาน หากทำ Front-end หรือส่วนหน้าบ้าน ภาษาที่สำคัญ เช่น JavaScript เป็นภาษาพื้นฐาน, React.js ช่วยให้เขียนเว็บง่ายขึ้น หากทำ Back-end หรือส่วนหลังบ้าน ภาษาที่สำคัญ เช่น Python เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน เช่น โปรแกรม Docker สำหรับการ Deploy เว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานใช้ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิศวกรซอฟต์แวร์ก็ต้องทำงานร่วมกับบุคคลอื่น ตั้งแต่กระบวนการรับมอบหมายงานจากผู้จัดการโครงการ การพูดคุยกับลูกค้าเพื่อให้ทราบถึงความต้องการ การประสานงานกันระหว่างคนในทีม ดังนั้น ทักษะด้านสังคมและการทำงาน หรือ Soft Skills ก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการสื่อสาร หรือทักษะการทำงานเป็นทีม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถร่วมงานกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้งานประสบความสำเร็จตามที่วางแผนไว้

ในยุคที่บริษัทต่าง ๆ เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สนามแข่งขันในโลกดิจิทัลอย่างเต็มตัว ซึ่งส่งผลให้วิศวกรซอฟต์แวร์เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่การจะประกอบอาชีพนี้ได้ก็ต้องมาพร้อมกับทักษะต่าง ๆ ทั้งทักษะความรู้เฉพาะทาง และทักษะด้านสังคม เนื่องจากเป็นอาชีพที่อาศัยความเชี่ยวชาญสูง ต้องมีทักษะและไหวพริบ รวมถึงความรู้เฉพาะทาง อีกทั้งในปัจจุบันซอฟต์แวร์มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีบุคคลที่สามารถควบคุมและดำเนินการผลิตที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถตรวจหาข้อผิดพลาดพร้อมสาเหตุได้ ดังนั้นผู้ที่สนใจเข้าสู่เส้นทางการพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะได้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพต่อไป


โดย : สิริภัทร อิ่มสอาด